การบรรยายและคำสอนเป็นลิขสิทธิ์ของเนติบัณฑิตยสภา ในพระบรมราชูปถัมภ์ สามัญสมาชิกและสมาชิกวิสามัญ พึงปฏิบัติตามจริยธรรมและกฎหมาย ไม่ร่วมมือและสนับสนุนผู้กระทำความผิด เนื่องจากข้อมูลของสามัญสมาชิกและสมาชิกวิสามัญแห่งเนติบัณฑิตยสภาไม่เป็นปัจจุบัน เนติบัณฑิตยสภา ในพระบรมราชูปถัมภ์ ขอเชิญชวนให้สมาชิกเข้ามาปรับปรุงข้อมูลได้ด้วยตนเองทางเว็บไซต์เนติบัณฑิตยสภา เพื่อสิทธิประโยชน์ของสมาชิกแห่งเนติบัณฑิตยสภา :: สงวนสิทธิ์ในการบรรยายกฎหมายออนไลน์เป็นลิขสิทธิ์ของเนติบัณฑิตยสภา ในพระบรมราชูปถัมภ์ การเผยแพร่ ทำซ้ำ ดัดแปลง ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือใช้วิธีการใดก็ตามต้องได้รับอนุญาตจากเนติบัณฑิตยสภาก่อน

 

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์

 

 

 

         พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ทรงเป็นเสนาบดีกระทรวงยุติธรรม ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงดำเนินการปฏิรูปศาลไทย โดยปรับปรุงให้ศาลมีอิสระในการพิจารณาพิพากษาคดี พระกรณียกิจในการปฏิรูประบบกฎหมายและการศาล ทำให้ทรงได้รับยกย่องว่าเป็น “พระบิดาแห่งกฎหมายไทย” ทรงเป็นต้นราชสกุล รพีพัฒน์

          พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และเจ้าจอมมารดาตลับ ประสูติเมื่อวันที่ ๒๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๑๗ มีพระนามเดิมว่าพระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ พระองค์มีพระเชษฐภคินีร่วมพระชนนีเดียวกัน คือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ  พระองค์เจ้าอัจฉรพรรณีรัชกัญญา
         เมื่อทรงพระเยาว์ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ทรงได้รับการศึกษาชั้นต้นในพระบรมมหาราชวัง โดยทรงศึกษาวิชาภาษาไทยในสำนักพระยาศรีสุนทรโวหาร(น้อย อาจารยางกูร)ร่วมกับ พระเจ้าลูกเธอในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่มีพระชนม์เป็นรุ่นใหญ่อีก ๓ พระองค์ คือ

  • พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้ากิติยากรวรลักษณ์ (พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระจันทบุรีนฤนาถ)
  • พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าประวิตรวัฒโนดม (พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงปราจิณกิติบดี)
  • พระเจ้าลูกยาเธอพระองค์เจ้าจิรประวัติวรเดช (พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงนครไชยศรีสุรเดช)
 
          
   
          เมื่อทรงศึกษาภาษาไทยในชั้นประถมแล้ว  ได้ทรงศึกษาภาษาอังกฤษ ในสำนักของครูรามซามี ที่โรงทหารมหาดเล็กมุมตึกข้างประตูพิมานชัยศรีต่อมาใน  พ.ศ. ๒๔๒๖  ทรงศึกษาภาษาไทยในสำนักพระยาโอวาทวรกิจ (แก่น)  อีก ๑ ปีต่อมาทรงเข้าศึกษาในโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ  ซึ่งมีพระยาโอวาทวรกิจ (แก่น) เป็นอาจารย์และเจ้าพระยายมราช(ปั้น สุขุม) ขณะมีบรรดาศักดิ์เป็นขุนวิจิตรวรสาส์น  เป็นครูที่สอนประจำพระเจ้าลูกยาเธอทั้ง ๔ พระองค์ เป็นเวลา  ๒๐ วัน  เพื่อทรงศึกษาพระธรรมวินัยในสำนักสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ และสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส พระเจ้าลูกยาเธอทั้ง๔ พระองค์นี้ นับเป็นพระเจ้าลูกยาเธอรุ่นแรกที่เสด็จไปศึกษาต่อยังต่างประเทศ และต่อมาทั้ง ๔ พระองค์ได้ทรงเป็นกำลังสำคัญของสมเด็จพระบรมชนกนาถในการปฏิรูปการปกครองและการบริหารราชการแผ่นดิน

         ขณะที่ทรงศึกษาอยู่ ณ ประเทศอังกฤษ ใน พ.ศ. ๒๔๓๐  สมเด็จพระราชินีนาถวิค-ตอเรียแห่งอังกฤษ ทรงจัดงานพระราชพิธีเนื่องในวโรกาสที่ทรงครองสิริราชสมบัติครบ ๕๐ ปี พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ เสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศเสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ เมื่อเสร็จราชการที่อังกฤษแล้ว ได้เสด็จประเทศฝรั่งเศส เยอรมัน และสวีเดน และทรงพาพระเจ้าลูกยาเธอทั้ง ๔ พระองค์โดยเสด็จเพื่อทอดพระเนตรบ้านเมืองเหล่านั้นด้วย และเมื่อเสด็จกลับกรุงเทพฯ พระเจ้าลูกยาเธอทั้ง ๔ พระองค์ก็ได้โดยเสด็จนิวัติพระนครด้วย เมื่อเสด็จไปทรงศึกษาต่อที่กรุงลอนดอนจนกระทั่งทรงสำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมแล้ว สมเด็จพระบรมชนกนาถทรงเลือกให้กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ กรมหลวงปราจิณกิติบดี และกรมพระจันทบุรีนฤนาถทรงศึกษาวิชาพลเรือน ส่วนกรมหลวงนครไชยศรีสุรเดชทรงกำหนดให้ศึกษาวิชาทหาร กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ทรงเลือกศึกษาวิชากฎหมายในวิทยาลัยไครสต์เชิส มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด และทรงสำเร็จการศึกษาตามหลักสูตรปริญญาตรี (B.A.) แล้วเสด็จกลับประเทศไทย

     
 
       เมื่อเสด็จกลับประเทศไทยแล้ว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ทรงเข้ารับราชการในออฟฟิศราชเลขานุการ เนื่องจากกรมราชเลขานุการในสมัยนั้นเป็นหน่วยงานที่เป็นศูนย์รวมของราชการแผ่นดินทั้งปวง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าลูกเธอที่ทรงสำเร็จการศึกษาจากต่างประเทศมาฝึกปฏิบัติราชการก่อนที่จะให้ไปทรงรับราชการในกระทรวงต่าง ๆ ขณะเดียวกันก็ได้ทรงศึกษากฎหมายไทยด้วย เพราะเสด็จไปทรงศึกษาในต่างประเทศหลายปี จึงมิได้ทรงทราบเกี่ยวกับกฎหมายไทยนัก

         ต่อมา มณฑลกรุงเก่า (มณฑลอยุธยา) มีคดีความคั่งค้างอยู่ตามโรงศาลมาก จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งกองข้าหลวงพิเศษออกไปชำระความที่มณฑลกรุงเก่าเป็นแห่งแรก โดยทรงแต่งตั้งกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ขณะทรงดำรงพระยศพระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้ารพีพัฒน-ศักดิ์ ขุนหลวงพระไกรสี (เปล่ง เวภาระ ต่อมาเป็น ขุนหลวงพระยาไกรสี) และมิสเตอร์ อาร์. เจ. เกิกปาตริก เป็นข้าหลวงพิเศษสำหรับจัดการศาลยุติธรรมในมณฑลกรุงเก่า กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์พร้อมทั้งข้าหลวงพิเศษอีก ๓ คนนี้ ได้ทรงชำระสะสางคดีความต่าง ๆ ที่คั่งค้าง โดยทรงนั่งชำระความวันละ ๕ ชั่วโมง ต่อมาเมื่อเห็นว่าการพิจารณาอยู่ศาลเดียวทำให้เสียเวลา จึงแยกเป็นนั่งพิจารณาคดี ๒ ศาล โดยกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์และพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นมรุพงศ์สิริพัฒน์ (ต่อมาคือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนมรุพงศ์สิริพัฒน์) ข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลกรุงเก่า นั่งพิจารณาคดีศาลหนึ่ง ส่วนอีกศาลหนึ่งนั้นขุนหลวงพระไกรสีและมิสเตอร์เกิดปาตริกและพระยาไชยวิชิต (นาค ณ ป้อมเพชร) เป็นผู้นั่งพิจารณา โดยศาลหนึ่งชำระความที่ค้างในมณฑล ส่วนอีกศาลหนึ่งชำระความที่ค้างในเมือง

         ข้าหลวงพิเศษมีวิธีการชำระความคือ เมื่อไต่สวนได้ความว่าจำเลยทำผิดกฎหมายจริง สอบถามและรับสารภาพแล้ว ข้าหลวงพิเศษอ่านคำฟ้องและคำตัดสินให้จำเลยฟัง แล้วพิจารณาว่าจำเลยคนใดถูกจำขังมานานแล้วพอแก่โทษ ก็ตัดสินให้ยกเลิกคดีความนั้น และสั่งปล่อยจำเลย ส่วนจำเลยคนใดถูกขังไม่นานพอแก่โทษก็ให้จำขังต่อไป  ทั้งนี้ในการพิจารณาคดี มีข้าหลวงคนหนึ่งทำหน้าที่จดบันทึกการพิจารณาคดีแล้วตัดสินทันที การชำระสะสางคดีความของกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์และกองข้าหลวงนี้ เป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อประชาชน เพราะทำให้ผู้บริสุทธิ์ได้พ้นโทษ ส่วนผู้ที่ทำผิดจริงแต่ติดคุกมาเป็นเวลานานแล้วก็ถูกปล่อยตัวไป การชำระความที่รวดเร็วเช่นนี้เป็นที่พอใจของประชาชนเป็นอย่างยิ่ง ทำให้ศาลมณฑลกรุงเก่าได้รับคำชมเชยจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ว่ามีความเป็นระเบียบเรียบร้อยเป็นแบบแผนดี สมควรที่จะเป็นตัวอย่างแก่มณฑลอื่น ๆ ในการจัดศาล การที่กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ได้ทรงปฎิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อตรง ยุติธรรมและรวดเร็ว ทำให้เสนาบดีที่ปรึกษาราชการพร้อมกันกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า แม้พระเจ้าลูกยาเธอพระองค์นี้จะมีพระชันษาน้อยก็เห็นสมควรที่จะได้รับราชการในตำแหน่งใหญ่เป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยได้

 

         ใน พ.ศ. ๒๔๓๙ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากรเสนาบดีกระทรวงยุติธรรม กราบถวายบังคมลาออกจากตำแหน่ง พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงดำรงราชานุภาพ (สมเด็จพระเจ้าบรม วงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ) กราบบังคมทูลเสนอให้ตั้งกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ขณะทรงดำรงพระยศพระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ ให้ทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงยุติธรรมสืบแทน ในชั้นแรก พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงยับยั้งไว้ก่อน ด้วยทรงเกรงว่าจะเป็นที่ครหาของคนทั่วไปว่าทรงตั้งพระเจ้าลูกยาเธอซึ่งมีพระ ชันษาเพียง ๒๒ ปีเป็นเสนาบดี และต่อมาเมื่อเจ้าพระยาอภัยราชา (Rolin Jacquemyns) รับรองว่าจะช่วยกำกับดูแลให้เรียบร้อย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้กรมหลวงราชบุรีราชบุรีดิเรกฤทธิ์ทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวง ยุติธรรมเมื่อวันที่ ๓ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๓๙ โดยทรงมอบหมายให้เจ้าพระยาอภัยราชาไปช่วยราชการอยู่ด้วย และยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ทรงดำรงตำแหน่งสภานายกในกองข้าหลวงพิเศษสำหรับจัดการแก้ไขธรรมเนียมศาล ยุติธรรมในหัวเมืองต่อไปด้วย

 

เสนาบดีกระทรวงยุติธรรมระหว่างพ.ศ. ๒๔๓๙ - ๒๔๕๓

 

 

         กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ได้ทรงปฏิรูปกิจการศาลไทย ซึ่งยังไม่เรียบร้อยและไม่ทันสมัย การศาลต่าง ๆ ยังสับสนยุ่งยาก คดีความคั่งค้างเป็นจำนวนมาก จึงทรงจัดวางระเบียบศาลยุติธรรมของประเทศให้ทันสมัยโดยการปรับปรุงศาลต่าง ๆ ในกรุงเทพฯ และหัวเมือง แก้ไขบทกฎหมายว่าด้วยการพิจารณาความแพ่งและความอาญา เพื่อให้การศาลยุติธรรมทันสมัยทัดเทียมนานาอารยประเทศ ที่สำคัญคือ ทรงออกประกาศให้ข้าหลวงพิเศษจัดตั้งศาลหัวเมืองและผู้พิพากษาในศาลพระราชอาญามีอำนาจกำหนดโทษในความผิดอาญา ซึ่งแต่เดิมนั้น เมื่อศาลพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยแล้วต้องกราบบังคมทูลให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงกำหนดเวลาจำคุกอีกชั้นหนึ่ง ทำให้ติดขัดชักช้ามาก กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ มีพระดำริว่าการที่ราชการศาลพระราชอาญาอันเป็นศาลที่สำคัญศาลหนึ่งในกระทรวงยุติธรรมไม่ดำเนินไปโดยสะดวก สาเหตุหนึ่งเนื่องมาจากการที่ศาลไม่มีอำนาจกำหนดเวลาจำคุกผู้กระทำความผิด จึงกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพร้อมกับทูลเกล้าฯ ถวายร่างประกาศพระราชทานอำนาจให้ศาลในกระทรวงยุติธรรมมีอำนาจกำหนดโทษผู้ต้องหาในคดีอาญาได้ ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ออกประกาศใช้เมื่อวันที่ ๑๐ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๓๙  แต่อย่างไรก็ตาม โทษประหารชีวิต ริบราชบาทว์ และจำคุกตลอดชีวิต นั้น ศาลส่วนกลางยังต้องกราบบังคมทูลต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก่อน ส่วนศาลหัวเมืองที่ข้าหลวงพิเศษจัดตั้งขึ้นต้องกราบบังคมทูลก่อนเฉพาะโทษประหารชีวิตและริบราชบาทว์

         นอกจากนี้ ได้ทรงออกประกาศยกเลิกกรรมการพิเศษความนา และโอนอรรถคดีจากกรรมการพิเศษชำระความนาไปรวมไว้ในศาลกระทรวงยุติธรรม ทรงปรับปรุงเกี่ยวกับหลักกฎหมายวิธีสบัญญัติในการพิจารณาคดีของศาล ทรงปรับปรุงเกี่ยวกับทางปฏิบัติในการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีในศาล ทรงปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับการอุทธรณ์ฎีกา ซึ่งแต่เดิมการอุทธรณ์โดยมากเป็นคดีที่ไม่มีเหตุจำเป็นที่จะต้องอุทธรณ์ แต่ก็อุทธรณ์เพื่อถ่วงเวลาให้ยืดยาวออกไป  ในที่สุดได้มีการออกประกาศใช้พระราชบัญญัติอุทธรณ์ ร.ศ. ๑๒๓ ขึ้นเมื่อวันที่ ๒๔ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๔๖ เพื่อปรับปรุงระบบการอุทธรณ์ฎีกา

         นอกจากนี้ พระกรณียกิจที่สำคัญในการปฏิรูปการศาลคือทรงปรับปรุงความเป็นอิสระของศาลในการพิจารณาพิพากษาคดีโดยปราศจากการแทรกแซงของฝ่ายบริหาร ซึ่งถือกันทั่วไปในบรรดาอารยประเทศว่าเป็นหลักประกันความยุติธรรมในศาลอันเป็นที่พึ่งสูงสุด และที่พึ่งสุดท้ายของประชาชน มีพระดำริว่า  “อำนาจพิจารณาพิพากษาคดีอยู่ใต้อุ้งมือฝ่ายธุรการนั้นใช้ไม่ได้  มีแต่จะเกิดภัยขึ้นเสมอ ๆ”

 

 

         กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ทรงมีส่วนสำคัญในการจัดตั้งโรงเรียนกฎหมายขึ้นในกระทรวงยุติธรรม  เมื่อ  พ.ศ.  ๒๔๔๐  เพราะทรงตระหนักถึงความจำเป็นที่จะต้องสร้างกำลังคนขึ้นใช้ในการพิจารณาพิพากษาคดี ทรงประสาทความรู้ทางกฎหมายและการอบรมจริยธรรมตุลาการให้แก่ผู้พิพากษาเก่าและใหม่ ตลอดจนนักเรียนกฎหมายที่จะเป็นผู้พิพากษาต่อไปในภายหน้าด้วยพระองค์เอง สำหรับแนวการศึกษากฎหมายของไทยในขณะนั้นได้ดำเนินตามระบบการจัดการศึกษากฎหมายของอังกฤษ ส่วนกฏหมายลักษณะครอบครัวและมรดก และกฎหมายที่ดินนั้น ศึกษาจากครูไทย กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ทรงสอนเป็นประจำและมีอาจารย์อื่น ๆ ร่วมสอน คือ พระยาประชากิจกรจักร์ (แช่ม บุนนาค) ขุนหลวงพระยาไกรสี (เปล่ง เวภาระ) พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร และพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวัชรีวงศ์  ในปลาย พ.ศ. ๒๔๔๐ ทรงเปิดให้มีการสอบไล่เป็นเนติบัณฑิตรุ่นแรก มีผู้สอบได้ ๙ ท่าน โดยมีเจ้าพระยามหิธร (ลออ ไกรฤกษ์) ได้รับยกย่องว่าเป็นเนติบัณฑิตคนแรก ต่อมาก็มีการสอบไล่ประจำปี จำนวนผู้สำเร็จเป็นเนติบัณฑิตจึงเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ พระองค์ได้ทรงพระนิพนธ์ตำรากฎหมายไว้จำนวนมาก เช่น พระราชบัญญัติในปัตยุบัน เล็กเชอร์กฎหมายที่ดิน กฎหมายราชบุรี การตั้งโรงเรียนกฎหมายและพระนิพนธ์ทางกฎหมายของพระองค์เป็นรากฐานของการก่อตั้งการศึกษาวิชานิติศาสตร์ขึ้นในประเทศไทย ในด้านการประพฤติปฏิบัติตนของผู้พิพากษา พระองค์ทรงบำเพ็ญเป็นตัวอย่างที่ดีในด้านจริยธรรมแก่ตุลาการด้วย ทรงกวดขันการทำงานของผู้พิพากษาให้มีความซื่อสัตย์สุจริต และมีความสามารถในการทำงานพระองค์จึงทรงพยายามเลือกเฟ้นกลั่นกรองบุคคลที่เหมาะสมกับตำแหน่งหน้าที่และเกียรติศักดิ์ของตุลาการ และกำจัดคนทุจริตประพฤติมิชอบออกไปจากตำแหน่งผู้พิพากษา  นอกจากนี้ ยังได้ทรงวางโครงการปรับปรุงเงินเดือนผู้พิพากษาให้เหมาะสมกับตำแหน่งหน้าที่และเกียรติของตุลาการด้วยการเพิ่มเงินเดือนให้มากขึ้นจนเพียงพอที่ผู้พิพากษาจะดำรงตนอยู่ได้ตามสมควร เพื่อแก้ไขและป้องกันการทุจริตในศาลต่าง ๆ โดยเริ่มปรับปรุงเมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๖

         กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ทรงเป็นประธานในการตรวจพระราชกำหนดบทพระอัยการเก่าใหม่ ปรึกษาลักษณะการที่จะชำระและจัดระเบียบกฎหมายเมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๐ และทรงเป็นกำลังสำคัญในการตรวจชำระพระอัยการเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดทำกฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ. ๑๒๗ ซึ่งเป็นประมวลกฎหมายไทยฉบับแรก

         ใน พ.ศ. ๒๔๔๒ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาพระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ขึ้นเป็นพระองค์เจ้าต่างกรม มีพระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นราชบุรีดิเรกฤทธิ์

         ในวันที่ ๓๐ เมษายน พ.ศ. ๒๔๕๒ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ขณะดำรงพระอิสริยยศ พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นราชบุรีดิเรกฤทธิ์ มีลายพระหัตถ์กราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเกี่ยวกับความปริวิตกของพระองค์ในการทำงานในตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงยุติธรรมจนมีพระประสงค์จะลาออกจากตำแหน่ง แต่เนื่องจากขณะนั้นกำลังเกิดปัญหาเรื่องที่ปรึกษากฎหมายชาวยุโรปมักจะทำการต่าง ๆ โดยพลการ และเป็นช่วงเวลาที่รัฐบาลไทยกำลังพยายามทำให้เอกราชทางการศาลกลับคืนมาอยู่ใต้กฎหมายไทย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงไม่ทรงเห็นด้วยที่กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์จะกราบถวายบังคมลาออก เพราะทรงเป็นนักกฎหมายไทยคนเดียวที่ชาวต่างชาติเคารพยำเกรง  แต่ในที่สุด ก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ทรงออกจากตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงยุติธรรมตามที่ทรงกราบถวายบังคมลาออกจากราชการเพราะทรงพระประชวรเมื่อวันที่ ๒๖ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๕๓ รวมเวลาที่ทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงยุติธรรมอยู่ถึง ๑๔ ปี

 

 

         เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นครองราชสมบัติต่อจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวซึ่งเสด็จสวรรคตในวันที่ ๒๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๕๓ นั้น  ต่อมาในพ.ศ. ๒๔๕๕ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงเกษตราธิการ และในปีเดียวกันทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนพระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหมื่นราชบุรีดิเรกฤทธิ์ เป็น พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ระหว่างที่ทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงเกษตราธิการ ได้ทรงจัดการเกี่ยวกับทะเบียนที่ดิน โดยทรงแก้ไขและเพิ่มเติมพระราชกำหนดกฎหมายและระเบียบการทะเบียนที่ดินให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น ทรงจัดการให้มีพระราชบัญญัติออกโฉนดที่ดินขึ้น ๒ ฉบับ คือใน พ.ศ. ๒๔๕๙ และ พ.ศ. ๒๔๖๒  นอกจากนี้ ได้ทรงจัดการเกี่ยวกับเหมืองแร่เพราะกรมโลหกิจ สังกัดในกระทรวงเกษตราธิการ โดยทรงเปิดทำเหมืองแร่ทางหัวเมืองฝ่ายเหนือใน พ.ศ. ๒๔๕๘ ทรงเพิ่มพนักงานในกรมโลหกิจและออกพระราชบัญญัติการทำเหมืองแร่เพื่อช่วยให้การทำเหมืองแร่สะดวกขึ้น คือพระราชบัญญัติการทำเหมืองแร่ พ.ศ. ๒๔๖๑ ในด้านการเพาะปลูกและการปศุสัตว์ ได้ทรงจัดสร้างสวนทดลองการเพาะปลูกขึ้นที่จังหวัดพิษณุโลกใน พ.ศ. ๒๔๕๘  ต่อมา เริ่มจัดทำนาทดลองขึ้นที่คลองรังสิตใน พ.ศ. ๒๔๕๙ ทรงจัดตั้งโรงเรียนสัตวแพทย์ขึ้นในกรมเพาะปลูกใน พ.ศ. ๒๔๕๗ และเริ่มฉีดยาป้องกันโรคระบาดสัตว์ในท้องที่ที่เกิดโรค

 

 

         นอกจากนี้ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ได้ทรงเสนอความเห็นว่าในการบำรุงการเพาะปลูก ต้องอาศัยการทดน้ำในทางวิทยาศาสตร์เพื่อช่วยให้น้ำฝนน้ำท่าซึ่งไหลหลากผิดปรกตินั้นให้เป็นไปตามธรรมดา เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้จัดทำตามโครงการได้ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ จึงทรงร่วมกับเซอร์ทอมัส วอร์ด ผู้เชี่ยวชาญการชลประทาน จัดทำโครงการทดน้ำสำหรับพื้นที่ราบตลอดขอบเขตบริเวณแม่น้ำเจ้าพระยา เมื่อโครงการย่อยตอนต่าง ๆ ทุกโครงการในทุ่งราบภาคกลางเสร็จสมบูรณ์ จะต้องสร้างเขื่อนระบายน้ำขนาดใหญ่กั้นแม่น้ำเจ้าพระยาที่จังหวัดชัยนาท เพื่อให้โครงการย่อย ๆ นั้นเชื่อมต่อกับเขื่อนระบายน้ำที่จังหวัดชัยนาท ให้สามารถทดน้ำที่มีปริมาณเพียงพอไปใช้ในทุ่งนาทั้ง ๒ ฝั่ง ซึ่งมีผลดีต่อการเพาะปลูก โดยการจัดทำจะแบ่งทำเป็นส่วน ๆ ไป  ต่อมา ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งกรมทดน้ำ (ปัจจุบันคือ กรมชลประทาน) ขึ้นใน พ.ศ. ๒๔๕๗ เพื่อดำเนินการตามรูปโครงการ โดยเริ่มจัดทำโครงการป่าสักใต้ ซึ่งเป็นโครงการตอนที่ ๓ ก่อนใน พ.ศ. ๒๔๕๙ การดำเนินโครงการเพื่อการเกษตรนี้ดำเนินมาใกล้จะเป็นผลสำเร็จ แต่พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ก็ทรงพระประชวรด้วยวัณโรคที่พระวักกะเสียก่อน จึงได้กราบบังคมทูลลาพักราชการเพื่อรักษาพระองค์ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ทรงลาพักราชการเมื่อวันที่ ๑๔ กันยายน พ.ศ. ๒๔๖๒

 

         

         

          พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ เสด็จไปรักษาพระองค์ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส และสิ้นพระชนม์ที่กรุงปารีส เมื่อวันที่ ๗ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๖๓ ขณะพระชันษา ๔๗ ปี พระศพของพระองค์ได้รับการถวายพระเพลิงที่กรุงปารีส แล้วเชิญพระอัฐิกลับประเทศไทย พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ มีพระโอรสธิดารวม ๑๓ องค์ เช่น หม่อมเจ้าหญิงชวลิตโอภาส กิติยากร  หม่อมเจ้าอากาศดำเกิง รพีพัฒน์  หม่อมเจ้าหญิงดวงทิพย์โชติแจ้งหล้า  อาภากร.