ตราข้างบนนี้เป็นตราเนติบัณฑิตยสภาเมื่อแรกตั้ง (พ.ศ.๒๔๕๗) เลียนแบบตราจันทรมณฑลใหญ่ เป็นแต่เพียงไม่อยู่ในวงกลม และหันหน้ารถไปคนละทางเท่านั้น
ด้วยเหตุที่เจ้าพระยาอภัยราชามหายุติธรรมธร ผู้ดำรงตำแหน่งสภานายกพิเศษแห่งเนติบัณฑิตยสภาเป็นเสนาบดีกระทรวงยุติธรรม ถือตราจันทรมณฑลซึ่งเป็นตราสำหรับตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงยุติธรรมตามประกาศ ตราสำหรับตำแหน่ง มีความว่า มีพระบรมราชโองการในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฒาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ดำรัสเหนือเกล้าฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สั่งว่า ตำแหน่งเสนาบดีเจ้ากระทรวงแต่ก่อนมาย่อมมีตราประจำตำแหน่งทุกกระทรวง ครั้นเมื่อรัตนโกสินทร์ ศก๒๕ ๑๑๑ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งพระราชบัญญัติเพิ่มเติมตำแหน่งเสนาบดีขึ้นอีก เสนาบดีที่โปรดให้ยกขึ้นใหม่นี้ยังหามีตราสำหรับตำแหน่งไม่
จึงมีพระบรมราชโองการโปรกเกล้าฯ ให้เสนาบดีซึ่งยังไม่มีตราสำหรับตำแหน่งนั้น ถือตราสำหรับตำแหน่งดังนี้
เสนาบดีกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ
ถือตราสุริยมณฑล
เสนาบดีกระทรวงโยธาธิการ
ถือตราพระรามทรงรถ
เสนาบดีกระทรวงธรรมการ
ถือตราบุษบกตามประทีป
เสนาบดีกระทรวงยุติธรรม
ถือตราจันทรมณฑล
เสนาบดีกระทรวงมุรธาธร
ถือตราพระพรหมนั่งแท่น
ฯลฯ
ตราสำหรับตำแหน่งทั้งปวงนี้ให้เปนอันใช้ได้ตั้งแต่วันที่ได้โปรดกเล้าฯ ให้ประกาศนี้ไป ประกาศ มา ณ วันที่ ๑๗ มกราคม รัตนโกสินทร์ศก๒๗ ๑๑๓ เป็นวันที่ ๙๕๖๔ ในรัชกาลปัตยุบันนี้
ตราจันทรมณฑลนี้ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สร้างพระราชทานเป็นตราประจำตัวสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ (ทัต บุนนาค) หรือสมเด็จเจ้าพระยาองค์น้อย คู่กับตราสุริยมณฑลซึ่งพระราชทานเป็นตราประจำตัวสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงศ์ (ดิส บุนนาค) หรือสมเด็จเจ้าพระยาองค์ใหญ่
ตราจันทรมณฑลใหญ่ เดิมมีอุณาโลมอยู่ในบุษบก คงจะมีใครเห็นว่าที่มีอุณาโลมนั้นเกินไป จึงได้ทำใหม่เปลี่ยนเป็นไม่มีอุณาโลม
ตราจันทรมณฑลน้อย มีลายเป็นพระจันทร์ดั้นเมฆ
เมื่อสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติถึงแก่พิราลัยเมื่อวันที่ ๘ กุมภาพันธ์ ๒๔๐๐ ตราจันทรมณฑลใหญ่และน้อยได้ส่งมาเก็บไว้ที่ห้องอาลักษณ์ จนพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานตราดังกล่าวให้เป็นไปตราสำหรับตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงยุติธรรม
ได้ใช้ตราเนติบัณฑิตยสภาดังกล่าวมาจนถึงพ.ศ. ๒๕๐๓ จึงได้เปลี่ยนตราเนติบัณฑิตยสภาเป็นรูปลักษณะดังนี้
ตามข้อบังคับเนติบัณฑิตยสภา พุทธศักราช ๒๕๐๓ ประกาศ ณ วันที่ ๑๐ มิถุนายน ๒๕๐๓
เป็นรูปพระมนูสาราจารย์ถือตราชูในมือซ้ายมือขวาถือพระขรรค์
ภาพนี้ พระยาอนุมานราชธนเป็นผู้ให้ความหมายของตรา พระพรหมพิจิตร (อู๋ ลาภานนท์) เป็นผู้ร่างลายเส้น อาจารย์ปลิว จั่นแก้ว กรมศิลปากรเป็นผู้ลงลายเส้น (จากคำบอกเล่าของอาจารย์ในกรมศิลปากร พ.ศ. ๒๕๓๗ ไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือ)
ตามกฎหมายตราสามดวง เล่ม ๑ ลักษณะธรรมสารท หน้า ๑๕ มีความว่า “สมเด็จพระเจ้ามหาสมมุติราชเสด็จยังสาระพินิจฉัย พร้อมด้วยหมู่มุกขมนตรีกระวีราชปโรหิตาโหราจารย์ผู้อยู่ในศีลสัจดำรงพระไทยฟัวอรรฐคดีซึ่งกระลาการพิจารณาโดยยุติธรรมนั้นเป็นแว่นแก้ว แล้วเอาคำภีรพระธรรมศาตรเป็นพระเนตร ดูเทศกาลบ้านเมืองโดยสมควรแล้ว จึงเอาพระกรเบื้องขวา คือพระสะติสัมปะชัญะทรงพระขรรคแก้ว คือพระวิจารณะปัญาวินิจฉัยตัดข้อคดีอนาประชาราษฎรทั้งปวงโดบยุติธรรม”
ฉะนั้นพระขรรค์ในมือขวา คือปัญญาที่วินิจฉัยตัดข้อคดีทั้งปวงโดยยุติธรรม ตามตราชูที่ถือในมือซ้ายที่ได้ชั่งจนได้ความเที่ยงธรรมที่เป็นที่ยุติธรรมแล้ว
ในการประชุมคณะกรรมการเนติบัณฑิตยสภาครั้งที่ ๘๑ เมื่อวันที่ ๑๐ พฤศจิกายน ๒๔๗๗ คณะกรรมการได้อนุมัติให้ใช้ข้อบังคับเนติบัณฑิตยสภาแผนกสโมสรได้ ตามข้อบังคับ ข้อ ๒ “เครื่องหมายของสโมสรนี้ ประกอบขึ้นด้วยรูปพระมนูสาราจารย์สีเหลือง บนพื้นสีน้ำเงินแก่ ตามแบบและขนาดที่สโมสรจะได้จัดไว้เป็นตัวอย่าง
สมาชิกผู้ใดประสงค์จะใช้เครื่องหมายของสโมสรติดกับเสื้อ จะต้องใช้เสื้อสีน้ำเงินแก่ติดดุมโลหะสีขาว ๓ เม็ด กับดุมข้อมือข้างละ ๓ เม็ด”
แสดงว่า พระมนูสาราจารย์นี้ ได้ถือเป็นเครื่องหมายของเนติบัณฑิตยสภามานับแต่ พ.ศ. ๒๔๗๗ โดยชั้นแรกเป็นแต่เพียงเครื่องหมายของสโมสร ต่อมาจึงได้เป็นเครื่องหมายของเนติบัณฑิตยสภา
เมื่อพระราชบัญญัติเนติบัณฑิตยสภา พ.ศ. ๒๕๐๗ ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๐๗ โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๘๑ ตอนที่ ๑๕ วันที่ ๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๐๗ ฉบับพิเศษ หน้า ๓ ถึง ๘ และข้อบังคับเนติบัณฑิตยสภา พ.ศ. ๒๕๐๗ ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๘๐ ตอนที่ ๓๕ วันที่ ๒๑ เมษายน ๒๕๐๗ หน้า ๒๔๐ ตามข้อ ๒ ของข้อบังคับ ตราของเนติบัณฑิตยสภามีรูปลักษณะดังนี้